บทที่ 2 เซลล์, บทที่ 7 โครงสร้างและหน้าที่ในสัตว์

เปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากสัตว์

Pig_200px_20090220

การใช้อวัยวะจากสัตว์มาปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ แม้ว่าจะยังห่างไกลจากความเป็นจริงมาก แต่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการรอคอยอวัยวะในการปลูกถ่ายได้ ในบางประเทศ อาจมีคนคอยคิวรับการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมาก และหลายคนต้องเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับการรักษา และในบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น แทนที่เราจะใช้ชิมแพนซีเป็นแหล่งของอวัยวะให้กับมนุษย์ แต่เราไม่สามารถเพิ่มจำนวนชิมแพนซีได้เร็วนักเมื่อเทียบกับหมู นอกจากนี้ขนาดอวัยวะของหมูยังใกล้เคียงกับของคนเราอีกด้วย

ปัญหาใหญ่ของการใช้อวัยวะจากสัตว์นั้นอยู่ที่ระบบภูมิต้านทาน (immune system) ของเราเองที่จะปฏิเสธอวัยวะ (rejection) นั้น (การปฏิเสธอวัยวะเกิดกับการปลูกถ่ายระหว่างคนเราเองด้วยเช่นกัน) ทำอย่างไรจึงจะจัดการกับปัญหาการปฏิเสธอวัยวะได้?

การใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตนเองในการสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะของตัวเองเป็นฝันของนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และคนไข้ แต่ก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริงในการที่จะสร้างอวัยวะที่ซับซ้อนจากเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell)

ในรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet นั้นแสดงให้เห็นว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพในกรจัดการกับสิ่งที่กระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระหว่างร่างกายของเรากับอวัยวะที่ปลูกถ่ายมาได้ ก็อาจจะลดการปฏิเสธอวัยวะได้นั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์ใช้หมูดัดแปลงพันธุกรรมที่เรียกว่า “GTKO pig” หรือหมูที่ไม่สร้างโปรตีนกาแลกโตซิลทรานสเฟอเรซ (galactosyltransferase) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาของการอุดตันของเส้นเลือดในอวัยวะที่นำมาปลูกถ่ายเพราะการจับตัวของเลือด (clot) และการอักเสบของอวัยวะ (inflammation) ซึ่งอาจต้องหาทางแก้ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรมต่อไป

แม้ว่าความเป็นไปได้ของการปลูกถ่ายทั้งอวัยวะจะน้อย แต่การใช้เพียงบางส่วนเช่นเซลล์หรือเนื้อเยื่อจากสัตว์มาปลูกถ่ายให้กับมนุษย์อาจจะทำได้ง่ายกว่า เช่นการปลูกถ่ายเซลล์ที่สร้างอินซูลิน (insulin) ของหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมแล้วให้กับมนุษย์อาจจะเป็นไปได้ เพราะเราก็ใช้อินซูลินที่ให้หมูผลิตให้มานานแล้ว

แต่จะใช้สิ่งที่มาจากสัตว์ชนิดอื่นมาปลูกถ่ายให้กับมนุษย์เราได้นั้น (xenotransplantation) ต้องมั่นใจว่ามันใช้งานได้ และปลอดภัย ซึ่งยังคงเหลือหนทางอีกไกล

 

ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง:

ใส่ความเห็น