เกี่ยวกับเรา

ฉลองโพสต์ที่ 300

300 บลอก

หลังจากที่ฉลองโพสต์ที่ 200 ไปเมื่อ 27 กันยายน 2554 ก็ถึงเวลาฉลองบลอกที่ 300 อีกครั้งในวันนี้

บทที่ 4 วิวัฒนาการ

เครื่องมือจิตรกรโบราณ

รายงานในวารสาร Science นี้กล่าวได้ว่าเหมือนการพบจานสีโบราณของมนุษย์ที่มีอายุกว่า 100,000 ปีที่ถ้ำ Blombos ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยสิ่งที่พบนี้ประกอบด้วยสีเหลืองและแดง ภาชนะ หินสำหรับบด และช้อนที่ทำจากกระดูกสำหรับผสมสี

การค้นพบนี้แสดงความสามารถทางความคิดของมนุษย์โบราณว่าเกิดขึ้นแล้วเมื่ออย่างน้อยก็นับแสนปีก่อน

ถ้ำ Blombos นี้ห่างจากเมืองเคปทาวน์ไปทางตอนใต้ราว 300 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์พบข้าวของต่างๆจากการศึกษาถ้ำนี้มากว่า 20 ปี

ในปีค.ศ. 2002 นักวิทยาศาสตร์ยังเจอแท่งรง (ochre) ที่มีสนิมเหล็กที่ใช้เป็นสีได้อยู่ สีพวกนี้น่าจะใช้แต่งแต้มตามตัวหรือเครื่องแต่งกายมากกว่าวาดภาพบนผนังถ้ำที่ไม่เหมาะสำหรับการวาดภาพและให้มีอายุอยู่ยืนยาว ดังเช่นภาพวาดบนผนังถ้ำที่พบในฝรั่งเศษ อายุ 30,000-35,000 ปี แต่การพบอุปกรณ์อายุเป็นแสนปีในแอฟริกาด้วย ทำให้เราต้องเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการเชิงวัฒนธรรมของมนุษย์

BBC News – Ancient ‘paint factory’ unearthed.

บทที่ 4 วิวัฒนาการ

อาการน้ำหนีบในโลมา

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเลอย่างเช่นโลมา (dolphin) หรือวาฬ (whale) ที่ดำน้ำไปหาอาหารลึกๆนั้น จะมีการปรับตัวเพื่อลดเหตุที่จะทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ (bend) หรือ “decompression sickness” แต่ในรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B แสดงให้เราเห็นสิ่งที่เกิดในทิศทางตรงกันข้าม

นักวิทยาศาสตร์ใช้เคลื่อนเสียงสแกนตามผิวหนังของโลมาเกยตื้น และพบว่ามีฟองอากาศอยู่ในชั้นไขมันของโลมาเหล่านี้ ซึ่งเป็นลักษณะของการเกิดน้ำหนีบ เมื่อมันขึ้นมาเกยตื้นเร็วเกินไป

สิ่งที่สัตว์พวกนี้ทำเวลาขึ้นจากระดับน้ำลึก เหมือนกับนักประดาน้ำเรา ประกอบด้วยการค่อยขึ้นสู่ผิวน้ำ และลอยตัวอยู่ในระดับความลึกก่อนที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะระหว่างที่ดำน้ำลึกๆนั้น ร่างกายจะได้ไนโตรเจนจำนวนมาก แต่พอเราขึ้นสู่ผิวน้ำ ไนโตรเจนที่ละลายอยู่ในน้ำเลือดและเนื้อเยื่อจะแยกตัวออก รวมกันเป็นฟองอากาศ และอุดตันเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการของน้ำหนีบ และเป็นอันตรายได้

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมที่สัตว์พวกเลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมีพฤติกรรมแบบเดียวกับที่นักประดาน้ำทำ จึงแสดงให้เห็นว่าสัตว์พวกนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคน้ำหนีบหากขึ้นจากระดับความลึกมากๆสู่ผิวน้ำที่เร็วเกินไปด้วยเช่นกัน

ที่มา: BBC News – Dolphins ‘decompress like humans’.

อ่านเพิ่มเติมที่: Bubbles in live-stranded dolphins

บทที่ 8 นิเวศวิทยา

ไม้ต้นตรึงไนโตรเจน

รายงานในวารสาร International Journal of Agricultural Sustainability แสดงให้เห็นว่าการใช้ไม้ต้น (tree) เพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนให้ดินในแอฟริกาให้ผลดีในการเพิ่มผลิตผลการเพาะปลูก

ปัญหาของดินไม่ดี และการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีพอ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ เราสามารถเพิ่มปุ๋ยอย่างไนโตรเจนในดินได้โดยใช้พืชตระกูลถั่ว (legume) ที่มีแบคทีเรียอยู่ในปมราก (nodule) ช่วยในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ (nitrogen fixation) ให้กลายมาเป็นปุ๋ยในรูปที่พืชสามารถใช้การได้

เกษตรกรในแอฟริกาใช้พืชตระกูลถั่วชนิด Cajanus cajan ในการเพิ่มปุ๋ย แต่อาจไม่เหมาะสมนักเพราะไนโตรเจนส่วนใหญ่อยู่ในเมล็ด ทำให้นักวิทยาศาสตร์เสนอให้ใช้ไม้ต้นชนิด Gliricidia sepium ซึ่งขึ้นตามป่าละเมาะ ในการเพิ่มไนโตรเจนในดินได้ดีกว่า

เราเรียกระบบที่ใช้ไม้ต้นในการเติมปุ๋ยให้ดินว่า “Fertiliser Tree Systems” หรือ FTS ซึ่งมีข้อดีนอกจากการเพิ่มปุ๋ยให้ดินแล้ว ไม้ต้นยังมีระบบรากที่หยั่งลึกกว่าพืชปลูกอื่นๆ เนื่องจากมันมีรากแก้วที่จะทำให้เข้าถึงแหล่งน้ำใต้ดินที่ลึกกว่าในยามแห้งแล้งได้

ก่อนที่จะปลูกพืชเพื่อการค้า เราสามารถตัดไม้ต้นพวกนี้ให้เตี้ยลง จนไม่บังแสง และจะทำให้ต้นไม้พวกนี้จะปรับตัวให้ไปอยู่ในระยะพัก และระหว่างนี้มันจะไม่ใช้อาหารมากจากดิน ลดการแข่งขันกับพืชปลูกเช่นข้าวโพดได้ ไม้ต้นพวกนี้จะฟื้นตัวอีกครั้งก็ตอนที่ข้าวโพดโตเต็มที่แล้ว

พื้นที่ในแอฟริกาส่วนใหญ่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากวิธีนี้ในการทดลองศึกษา ส่วนในพื้นที่ที่ยังไม่มีผลิตผลเพิ่มขึ้นนั้น นักวิทยาศาสตร์จะได้ไปศึกษาและปรับวิธีการให้เหมาะกับพื้นที่นั้นๆต่อไป

ที่มา: BBC News – Trees ‘boost African crop yields and food security’.

อ่านเพิ่มเติม: Agricultural success from Africa: the case of fertilizer tree systems in southern Africa (Malawi, Tanzania, Mozambique, Zambia and Zimbabwe)