บทที่ 4 วิวัฒนาการ

ชิมแพนซีใช่ท่าทางยังกับคน

นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่าแปดเดือนในการศึกษาพฤติกรรมชิมแพนซี (chimpanzee) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับท่าทาง (gesture) ในการสื่อสารกันของพวกมัน และพบว่า 20 ใน 30 ท่าที่พวกมันใช้ในการสื่อสารกันคล้ายกับที่มนุษย์เราใช้กัน

นักวิทยาศาสตร์คิดว่าการศึกษาว่าชิมแพนซีสื่อสารกันด้วยท่าทางแบบใดนั้นจะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาที่เราใช้กันได้

ที่มา: BBC News – Study says chimpanzees use ‘human-like gestures’.

บทที่ 4 วิวัฒนาการ, บทที่ 5 ความหลากหลาย, บทที่ 8 นิเวศวิทยา

ความหลากหลายทางชีวภาพกับวัฒนธรรม

นักวิทยาศาสตร์รายงานผลการศึกษาในวารสาร PNAS ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาลดลงในเวลาเดียวกันกับที่ความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity) ที่ลดลงเช่นกัน http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-18020636

บทที่ 4 วิวัฒนาการ

การรู้จำคำศัพท์ในลิงบาบูน

ลิงบาบูนเป็นลิงโลกเก่าที่อยู่กันเป็นฝูง หรือเป็นกองทัพ มี 5 ชนิด โดยในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science แสดงให้เห็นผลการทดลองที่นำบาบูนมาเลี้ยงและฝึกฝนให้มัน “จำ” คำศัพท์ขนาดสี่ตัวอักษรจากการเรียงอักษรที่ไม่ใช่คำได้ด้วย

นักวิทยาศาสตร์นำลิงบาบูนมาเลี้ยงและออกแบบการทดลองให้พวกมันเลือกเองว่าอยากมาทำการทดลองที่นักวิทยาศาสตร์เตรียมเอาไว้ให้ด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าตัวที่ยอมมาเรียนรู้จะทำได้ดีกว่าตัวอื่นๆที่อาจไม่เต็มใจนักถ้าบังคับมันมาฝึก

นักวิทยาศาสตร์พบว่าความสามารถในการจำคำศัพท์นี้ น่าจะเกิดจากความสามารถในการจำแนกวัตถุ มากกว่าความสามารถทางภาษา

นอกจากนี้ยังพบว่าลิงที่ยอมเข้าร่วมการทดลองมีความแปรผันในความสามารถด้านนี้ เมื่อลิงบางตัวเช่นเจ้า “แดน” มีความสามารถในการจำคำได้กว่าสามร้อยคำเป็นต้น

แม้มันจะพูดไม่ได้ และคงไม่เข้าใจภาษาแบบที่เราๆเข้าใจ แต่ความสามารถในการเชื่อมโยงตัวอักษรและความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรก็เป็นหนึ่งในพื้นฐานที่มันมี และเป็นสิ่งที่เราใช้ในการเรียนรู้และสร้างภาษาขึ้น

ที่มา: BBC Nature – Baboons recognise words on a screen.

บทที่ 4 วิวัฒนาการ, บทที่ 7 โครงสร้างและหน้าที่ในสัตว์

นกพูดได้

ข่าวของประชาชนตื่นเต้นตกใจปนพิศวงเมื่อพบว่านกในสวนสาธารณพูดว่า “Hello darling!” และ “What’s happening?” ได้

พิพิธภัณฑ์ในซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียรายงานว่ามีผู้คนโทรศัพท์เข้ามารายงานว่าพบนกในธรรมชาติพูดได้ยังกับนกเลี้ยงตามบ้าน และภายหลังเป็นที่เข้าใจกันว่านกแก้วป่าในออสเตรเลียไปเอาคำพูดพวกนั้นมาจากไหน

ในข่าวบอกว่ามีนกกระตั๊ว (cockatoo) บ้านที่หนีออกมา แล้วไปสอนพวกนกป่าให้พูดได้ ใช้คำว่าสอนก็คงไม่ถูกนัก หรืออย่างน้อยเราก็ไม่ทราบว่านกกระตั๊วบ้านอยากจะสอนนกแก้วป่าให้พูดได้จริงหรือไม่

การพูดได้ของนก ก็คงจะไม่ตรงเท่าใดนักในเชิงชีววิทยา เพราะนกไม่ได้เข้าใจความหมายของคำที่มันพูด เพียงแต่เป็นการเลียนรู้และสร้างเสียงเลียนแบบโดยใช้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อภายในคอและปากของมันในการเลียนเสียงที่คนสอนมันขึ้นมา พวกนกไม่มีเส้นเสียง แต่มีอวัยวะกล่องเสียงของนก syrinx)

นกที่สร้างเสียงเลียนเสียงอื่นๆได้นั้น มีไม่กี่พวก เช่นนกที่ร้องเพลงได้อย่าง (songbird) พวกนกแก้ว (นกแก้ว parrot นกแก้วเล็ก parakeet และนกกระตั๊ว cockatoo) และพวกฮัมมิ่งเบิร์ด (hummingbird)

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neuroscience Research ในเดือนสิงหาคมว่านกเรียนรู้การสร้างเสียงหรือร้องเพลงเหล่านี้จากการเลียนแบบ (imitation) ซึ่งในตอนเล็กๆ พวกมันก็เหมือนเด็กมนุษย์ที่พูดอ้อแอ้ (babbling) ซึ่งในนกนั้นมันจะค่อยเรียนเพลงย่อย (subsong) เอาไว้

สมองของนกในส่วนที่เรียนรู้เกี่ยวกับเสียงนั้นคล้ายกับสมองมนุษย์ ซึ่งอาจมียีนที่เกี่ยวข้องดังที่ได้พบแล้วในมนุษย์อย่าง FOXP2 ที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการเปล่งเสียง

การศึกษาเกี่ยวกับการพูดได้ของนกอาจทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการเกี่ยวกับความสามารถในการพูดและภาษาในมนุษย์มากขึ้นได้อีกด้วย

ที่มา: BBC News – How can birds teach each other to talk?.

อ่านเพิ่มเติม: Twitter evolution: Parallel brain mechanisms of auditory–vocal learning in songbirds and humans

บทที่ 4 วิวัฒนาการ, บทที่ 5 ความหลากหลาย, บทที่ 7 โครงสร้างและหน้าที่ในสัตว์

ลิงพูดได้หรือไม่

คนที่ไปดูภาพยนตร์เรื่อง “กำเนิดพิภาพวานร” หรือ Rise of the Planet of the Apes อาจจะสงสัยว่าลิงมันจะพูดได้จริงๆหรือเปล่าในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็สงสัยและอยากทราบเช่นกัน

เกิดการทดลองขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับชิมแพนซีชื่อนิม (Nim Chimpsky) ที่จะถูกทำเป็นภาพยนตร์ชื่อว่า Project Nim

เป็นตัวอย่างของความพยายามในการศึกษาการสื่อสารของชิมแพนซีว่าทำแบบมนุษย์เราได้หรือไม่ หลังจากจากไม่ประสบความสำเร็จในการสอนให้ชิมแพนซีพูดภาษาคนแม้ว่าจะพยายามสอนมันเป็นเวลานานมากๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสภาพของปาก หรือริมฝีปากไม่สามารถควบคุมให้ใช้เปล่งเสียงแบบมนุษย์ใช้ได้ มีคำของมนุษย์ที่ชิมแพนซีเปล่งเสียงออกมาได้เช่นมาม่า ปาป้า อัพ และคัพ ซึ่งก็ได้ยินเป็นเสียงกระซิบเบาๆที่พอจะฟังออก

การศึกษาต่อมามุ่งไปที่การสื่อสารโดยใช้สัญลักษณ์เช่น ASL หรือ American Sign Language แต่ก็ไม่ใช่ภาษามือแบบที่เห็นอุรังอุตังกับซีซาร์พระเอกของเรื่องสื่อสารกัน แต่เป็นภาษาสัญลักษณ์ที่จะมีรูปภาพให้ชิมแพนซีไปชี้เพื่อสื่อความหมาย บางตัวจำได้ถึง 350 สัญลักษณ์ บางตัวจำได้ร้อยกว่า และสามารถผสมคำสร้างคำใหม่ที่ไม่มีอยู่ในสัญลักษณ์ที่เรียนได้ เรียงลำดับคำให้สื่อความหมายต่างกัน และสร้างเป็นประโยคที่ยาวมากๆได้