อุทกภัย 2554 ทำให้น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ และเมื่อน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน น้ำก็เน่าเสียขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดความต้องการอีเอ็ม (EM) มาใช้เพื่อบำบัดน้ำเสีย
อีเอ็ม (EM) ย่อมาจาก “Effective Microorganisms” มีต้นกำเนิดมาจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นชื่อ ดร.เทรูโอะ ฮิงะ ที่เสนอว่าในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในดิน ในน้ำ ในอากาศ จะมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้อยู่อย่างสมดุล แบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้สามกลุ่มได้แก่
- จุลชีพที่สร้างสารจัดเป็น “positive microorganism”
- จุลชีพที่สลายสารจัดเป็น “negative microorganism”
- จุลชีพฉวยโอกาสจัดเป็น “opportunistic microorganism”
เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในสังคมมีความสัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงประชากรของจุลชีพในสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้ และในที่นี้ EM ก็คือสิ่งที่จะถูกเติมลงไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เราต้องการ เพราะหากเราไม่ทำอะไรเลย ธรรมชาติมันก็เข้าสู่สมดุลของมันเองได้ แต่ผลิตผลที่เกิดขึ้นเช่นกลิ่นเหม็นและสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นอาจไม่พึงประสงค์สำหรับมนุษย์เรา
ใน EM มีจุลชีพอะไรบ้าง?
- กลุ่ม lactic acid bacteria เช่น Lactobacillus plantarum, Lactobacillus casei, Streptococcus lactis
- กลุ่มแบคทีเรียสังเคราะห์แสงได้เช่น Rhodopseudomonas plalustrus, Rhodobacter spaeroides
- กลุ่มยีสต์ Saccharomyces cerevisiae, Candida utilis
- กลุ่ม actinomycetes เช่น Streptomyces albus, Streptomyces griseus
- และแบคทีเรียอื่นๆที่อยู่รอดได้ในสภาวะของ EM
การใช้ EM นั้นมีได้หลากหลาย เช่นเอาไปทำเป็นปุ๋ย แต่ในที่นี้เราคงมาดูเรื่องการบำบัดน้ำเสียดังที่เป็นข่าวกัน โดยสิ่งที่จุลชีพใน EM จะทำให้หลักๆคือการเปลี่ยนสารอินทรีย์ (organic matter) ให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีเทน (CH4) ซึ่งช่วยลดการเกิดสารเคมีที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ของน้ำเสียได้เช่นพวกก๊าซไข่เน่า (H2S)
ใช้ EM บำบัดน้ำเสียได้ผลหรือไม่
ดังที่เราได้อ่านจากข่าวจากฝ่ายต่างๆที่ยืนยันว่าได้ผล บ้างก็ว่าอาจจะไม่ได้ผล แล้วมันได้ผลจริงๆรึเปล่า? ปัญหาหลักของการใช้ EM คือผลลัพท์ที่ได้นั้นไม่สม่ำเสมอและทำซ้ำได้ยาก ซึ่งหมายความว่าบางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล
ในทางวิทยาศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่ามีตัวแปรเยอะแยะมากมายเกินไป ทำให้ทดลองให้ยุติธรรมและเชื่อมั่นได้ยาก ในการนำไปใช้จริง ใครใช้ที่ตรงไหนแล้วได้ผล ก็ดีไป หากใช้ตรงไหนแล้วไม่ได้ผลก็ไม่ต้องบ่น
ใช้แล้วทำให้น้ำเน่าเสียมากขึ้นได้หรือไม่? ในกรณีที่ไม่ได้ผลขึ้นมา ก็คงไม่ทำให้มันเลวร้ายขึ้นกว่าที่มันเป็นอยู่หรอกครับ เพราะสารอินทรีย์ในน้ำเสียก็มักจะมีมากอยู่แล้ว พวกจุลชีพที่ใส่เพิ่มเข้าไปก็ไม่น่าจะทำให้สัดส่วนของสารอินทรีย์ในน้ำเพิ่มขึ้นมากนักครับ
อ้างอิง:
- Effective Microorganisms (Wikipedia)
- Shalaby, E. A. (2011), Prospects of effective microorganisms technology in waste treatment in Egypt. Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine (2011) 243-248.