นักวิทยาศาสตร์รายงานการศึกษาการปลิ้นออกของเซลล์ในวอลวอกซ์ในวารสาร BMC Biology ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเจริญของเอ็มบริโอนั้นแม้ว่าจะมีการปลิ้นของเซลล์เหมือนกันแต่กระบวนการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันได้
ผู้วิจัยอารัมภาบทว่าการศึกษาการเจริญในเอ็มบริโอของสัตว์หลายเซลล์นั้นทำได้ยาก แต่หากใช้สาหร่ายสีเขียวอย่างวอลวอกซ์ (Volvox) จะเป็นโมเดลที่เหมาะสมกว่า
การปลิ้นของเซลล์ (inversion) ในเอ็มบริโอของพวกวอลวอกซ์ในวงศ์ Volvocaceae แบบ A เช่นใน Volvox carteri นั้นได้รับการศึกษามามากกว่าแบบ B เช่นที่พบใน Volvox globator ว่ามันเกิดขึ้นเช่นไร
การศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา กล้องจุลทรรศน์แสงเลเซอร์แบบร่วมโฟกัส (confocal) กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) และแบบส่องผ่าน (TEM) ทำให้สามารถสร้างภาพสามมิติของตำแหน่งและรูปร่างของเซลล์ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเทียบกับระบบไซโตพลาสมิกบริดจ์ (cytoplasmic bridge; CB)
ความแตกต่างในกระบวนการที่พบระหว่างแบบ A และ B แสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการของกระบวนการปลิ้นกลับของเซลล์ในการเจริญพัฒนาของเอ็มบริโอนั้นอาจเกิดแบบคู่ขนานกัน (parallel evolution) ก็ได้
